Hack facebook , google plus ,yahoo , Skype
วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558
ยลโฉมผ้าไหมงาม ตามรอยความประทับใจวิถีชีวิตชาวบุรีรัมย์ รีวิวท่องเที่ยวภาคต่อด้วยการพาเพื่อน ๆ ไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบุรีรัมย์ กับสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความหลากหลาย พร้อมชิมเมนูอาหารรสอร่อย
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ Princess of Napier สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม และ เฟซบุ๊ก Princess of Napier
หลังจากที่เราได้ไปชมความสวยงามของทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ กับ ตามรอยเมืองโบราณ เยือนถิ่นปราสาทหินบุรีรัมย์ พร้อมชื่นชมความสวยงามของปราสาทหินอันเก่าแก่กันมาแล้ว วันนี้กระปุกดอทคอมขอนำเสนอรีวิวท่องเที่ยวภาคต่อด้วยการพาเพื่อน ๆ ไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบุรีรัมย์ กับสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความหลากหลาย พร้อมชิมเมนูอาหารรสอร่อย ผ่านภาพความประทับใจกับ คุณ Princess of Napier สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่มีโอกาสไปเยือนบุรีรัมย์ และเก็บภาพความทรงจำอันสวยงามมาฝากกันด้วย ซึ่งทริปนี้จะน่าสนุกขนาดไหนนั้น ตามไปตะลุยกันเลยจ้า
สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ชาว Pantip จากตอนที่แล้วที่เตยพาไปเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเน้นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดวาอาราม ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ ใครยังไม่ได้ชมตอนแรกสามารถตามไปเที่ยวด้วยกันก่อนในรีวิว ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองโบราณ "บุรีรัมย์" ตาม link ด้านล่างนะคะ
http://pantip.com/topic/32236657
มาวันนี้จะขอพาทุกคนขึ้นไปทางเหนือของจังหวัด ขึ้นไปชมการทำผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์กันค่ะ บุรีรัมย์เป็นจังหวัดในภาคอีสานที่มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหมมาเป็นเวลาช้านาน และมีการทอผ้าไหมในแทบทุกอำเภอ โดยถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นหลาน แหล่งทอผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของจังหวัดบุรีรัมย์อยู่ที่อำเภอพุทไธสงและอำเภอนาโพธิ์ค่ะ
"การเลี้ยงไหมนอกจากจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่และดีงามของชาติไทยที่สืบต่อกันมานานอีกด้วย ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การพัฒนาการเลี้ยงไหมก็ต้องดำเนินต่อไป" พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542
พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้นเปรียบเสมือนแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีพลังในการสืบสานอาชีพนี้ต่อไปเช่นเดียวกับชาวบุรีรัมย์ เรามาชมพร้อม ๆ กันนะคะว่ากว่าจะได้มาซึ่งผ้าไหมที่งดงามแต่ละผืนนั้นมีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรบ้าง จากนั้นจะพาเที่ยวในตัวเมืองกันต่อและพาไปชมฟุตบอลค่ะ
แวะมาชมแล้วทักทายกันสักนิดนะคะ ถ้าเห็นว่ากระทู้มีประโยชน์ช่วยกด+ และแสดงความรู้สึกให้กำลังใจคนทำรีวิวหน่อยนะคะ อยากให้ทุกคนได้เห็นกระบวนการกว่าจะได้มาซึ่งผ้าไหมแต่ละผืนค่ะ และสามารถแวะไปพูดคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/PrincessOfNapier ค่ะ
ที่แรกที่จะพามาชม คือ สหกรณ์ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหัวสะพาน ที่มีการสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตผ้าไหมไทยมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษค่ะ
คนในชุมชนส่วนใหญ่ที่บ้านหัวสะพานมีอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว โดยเฉพาะหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีการทอผ้าไหมขายเพื่อเป็นรายได้เสริม แบบต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ทำให้ไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน แต่หลังจากได้มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์ฯ เมื่อ 23 ธันวาคม 2553 โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (บุรีรัมย์) ร่วมกับสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ สหกรณ์อำเภอพุทไธสง พร้อมด้วยสมาชิกผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านหัวสะพาน ภายใต้การสนับสนุนของกรมหม่อนไหม เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการปลูกหม่อนการเลี้ยงไหมวัยอ่อน การเลี้ยงไหมวัยแก่ และการผลิตเส้นไหมให้ได้ตามมาตรฐานเส้นไหมหัตถกรรมพร้อมการบริหารจัดการดักแด้ไหม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหมของเกษตรกรในบริเวณแถบนี้ ตลอดจนถ่ายทอดปัญญาดังกล่าวต่อกลุ่มชนรุ่นหลังต่อไปค่ะ การปลูกต้นหม่อนมีทั้งที่ปลูกในที่หัวไร่ปลายนาและเช่าที่เพื่อปลูกค่ะ สังเกตได้ว่าปลูกกันแทบทุกบ้าน
ชาวบ้านที่บ้านหัวสะพานใจดีมากเลยค่ะ คอยให้ข้อมูลพร้อมพาเราไปชมการเลี้ยงไหมถึงในบ้าน ตัวไหมของแต่ละบ้านก็อยู่ในระยะที่ต่างกันค่ะ ในภาพจะเป็นไหมวัยอ่อนค่ะ
การเลี้ยงตัวไหมในกระด้งหรือกระบะเป็นวิธีที่ปฏิบัติมาดั้งเดิม ภายในห้องเลี้ยงไหมจะมีชั้นวางกระด้งหรือกระบะ วิธีการเลี้ยงไหมจะใช้วิธีเก็บใบหม่อนที่ค่อนข้างแก่ มีสีเขียวเข้มมาโรยให้หนอนไหมกิน
ที่บ้านหัวสะพานเจอพี่ชายใจดีท่านหนึ่งพาดูทุกบ้านเลยค่ะ พี่เค้าบอกว่ามีบ้านหนึ่งสาวไหมอยู่เดี๋ยวพาไปดู พอมาถึงก็เจอคุณป้ากำลังสาวไหมอยู่พอดีเลย โชคดีมากค่ะ ซึ่ง การสาวไหม คือ การดึงเส้นใยออกจากรังไหมให้ได้ขนาดตามต้องการในการทอผ้า ในประเทศไทยมีการสาวไหมแบบพื้นเมืองมานานแล้ว เป็นการสาวไหมด้วยมือ
เฝ้าสังเกตการณ์สาวไหมไปเรื่อย ๆ รู้สึกทึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านจริง ๆ ค่ะ แค่ขั้นตอนเริ่มแรกก็แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายแล้ว
กระบวนการสาวเส้นไหม
1. ต้มน้ำให้ร้อนประมาณ 70-80 C แล้วใส่รังไหมลงไปประมาณ 40-50 รังเพื่อให้ความร้อนจากน้ำช่วยละลาย Serricin (โปรตีน) ที่ยึดเส้นไหม
2. ใช้ไม่พายเล็กแกว่งตรงกลางเป็นแฉก คนรังไหมกดรังไหมให้จมน้ำเสียก่อน
3. เมื่อรังไหมลอยขึ้นจึงค่อย ๆ ตะล่อมให้รวมกันแล้วต่อย ๆ ดึงเส้นใยไหมออกมาจะได้เส้นใยไหมซึ่งมีขนาดเล็กมากรวมเส้นใยไหมหลาย ๆ เส้นรวมกัน
4. ดึงเส้นไหม โดยให้เส้นไหมลอดออกมาตามแฉกไม้ ซึ่งจะทำให้ได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอและรังไหมไม่ไต่ตามมากับเส้นไหม เส้นไหมที่สาวได้จะผ่านไม้หีบขึ้นไปร้อยกันรอกที่แขวนหรือพวงสาวที่ยึดติดกับปากหม้อ แล้วดึงเส้นไหมใส่กระบุง
5. คอยเติมรังไหมใหม่ลงไปในหม้อต้มเป็นระยะ ๆ
6. รังไหมจะถูกสาวจนหมดรังเหลือดักแด้จมลงก้นหม้อแล้วจึงตักดักแด้ออก
พี่เค้าชวนให้ลองชิมตัวดักแด้ที่ต้มเสร็จด้วย แต่ว่าไม่ได้ลองค่ะ
บ้านต่อมาพี่เค้าพาไปชมการทำผ้าไหมมัดหมี่ค่ะ
ผ้าไหมมัดหมี่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอีสานที่มีวิธีการสร้างลายผ้าไหมด้วยวิธีโบราณสืบต่อกันมานาน โดยนำเส้นไหมมามัดแล้วย้อมสีต่างๆ ตามที่กำหนด และเมื่อนำเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วไปทอก็จะได้ผ้าไหมที่มีลวดลายสีสันสวยงาม กรรมวิธีมัดและย้อมเส้นไหมนี้ชาวอีสานเรียกว่า "มัดหมี"
การทอผ้ามัดหมี่จะมีลายพื้นเมืองดั้งเดิมและลายที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ลักษณะเด่นของผ้าไหมบุรีรัมย์ คือ เนื้อจะแน่น เส้นไหมละเอียด ถ้าเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นแบบพื้นเมืองดั้งเดิมจะนิยมใช้สีขรึม ๆ ไม่ฉูดฉาด
บ้านคุณป้าท่านนี้เลี้ยงตัวไหมไว้ในบ้านเลยค่ะ คุณป้าเล่าอย่างใจดีว่าอยู่คนเดียวเลี้ยงในบ้านเลยสะดวกดี แถมชักชวนให้เข้าไปดูตัวไหมที่คุณป้าเลี้ยง อันนี้ตัวโตแล้วค่ะ พี่ที่พาเราชมหมู่บ้านบอกว่านี่ระยะ 5 แล้ว การเลี้ยงไหมวัย 5 เป็นช่วงไหมวัยสุดท้ายที่ใกล้จะให้ผลผลิตค่ะ
กี่ทอผ้าไหม เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งอีกอันหนึ่ง ลักษณะของกี่จะมีโครงสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยเสาหลัก 4 เสา มีไม้ยึดติดกัน เป็นแบบดั้งเดิมที่ใช้มาในอดีตและปัจจุบันยังนิยมใช้อยู่ เพราะกี่ชนิดนี้ใช้ทอผ้าที่มีลวดลายต่าง ๆ ได้ดีกว่าชนิดอื่น ๆ กี่กระตุกเป็นกี่แบบใหม่ที่ได้วิวัฒนาการให้มีคุณภาพในการทอรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประวัติความเป็นมาผ้าไหมบุรีรัมย์
การส่งเสริมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มมาตั้งแต่สมัย รัชการที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าให้ กรมหมื่นพิชัยมหิตโรดม พระราชโอรสลำดับที่ 38 เป็นอธิบดีกรมช่างไหม ในปี 2447-2448 ได้มีการจัดตั้งสถานีเลี้ยงไหมปลูกหม่อนที่จังหวัดบุรีรัมย์ขึ้น อธิบดีกรมช่างไหมทรงเสด็จออกตรวจเยี่ยมการทำไหมที่จังหวัดบุรีรัมย์โดยทางเกวียน และทรงแต่งเพลง "ลาวดำเนินเกวียน" ขึ้นระหว่างเดินทาง ปัจจุบันเรียกว่า "เพลงลาวดวงเดือน"
เมื่อปี 2450 มีการตั้งโรงสาวไหมขึ้นที่ว่าการอำเภอและศาลาวัดในพื้นที่ที่มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมมาก ๆ ของบุรีรัมย์ เช่น บ้านนาโพธิ์ หน่วยเลี้ยงไหมพุทไธสงและเมืองบุรีรัมย์ประสบความสำเร็จ กรมช่างไหมจึงให้หน่วยเลี้ยงไหมในมณฑลอีสานขึ้นตรงต่อหน่วยเมืองบุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2456 การเลี้ยงไหมชะงักลงจาการที่ไหมเกิดโรคระบาด และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งปี 2495 ได้มีการยกฐานะโรงเลี้ยงไหมจังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นเป็นสถานีส่งเสริมการเลี้ยงไหม ส่งเสริมการทำไหมอย่างจริงจังอีก จนถึงปี 2518 มีการรวมกลุ่ม "กลุ่มสตรีอาสาทอผ้าไหม" ที่บ้านนาโพธิ์ อำเภอนาโพธิ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ จึงยกระดับฝีมือทอผ้าชาวบุรีรัมย์ให้ดียิ่งขึ้น (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ phanomrungsilk.com)
เมื่อปี 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ศึกษาข้อมูลพื้นที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทย พบว่า อำเภอนาโพธิ์เป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงทราบถึงโครงการ จึงรับพื้นที่อำเภอ นาโพธิ์ไว้ในโครงการส่วนพระองค์ ในปี 2542 ได้มีการก่อสร้างศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านที่อำเภอนาโพธิ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพรองรับแผนงานโครงการส่วนพระองค์ ในปี 2545 ผู้ผลิตผ้าไหมชาวบุรีรัมย์กว่าร้อยกลุ่ม จึงขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมเป็นวิถีชีวิตของราษฎรชาวบุรีรัมย์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ตามหลักฐานปรากฏว่ามีการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่จังหวัดบุรีรัมย์ มาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 โดยระหว่างปี พ.ศ. 2440-2445 ประเทศสยามได้สั่งซื้อเครื่องแพรไหมจากต่างประเทศมีมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการเลี้ยงไหมขึ้น และได้ดำเนินการอย่างจริงจังในปี 2444 โดยกระทรวงเกษตราธิการได้ยกฐานะแผนกไหม เป็นกรมช่างไหม และจ้างผู้เชี่ยวชาญทำไหมชาวประเทศญี่ปุ่น ทำการสำรวจและทดลองปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศสยาม
สำหรับผ้าไหมบุรีรัมย์มีสีสันลวดลายหลากหลาย ตามความนิยมของชาวบุรีรัมย์ที่มีชนเผ่า 4 ชนเผ่า ได้แก่
1) ชนเผ่าไทยเขมร นิยมผ้าไหมลายหางกระรอก ลายอัลปรม ลายโฮล ลายลูกแก้ว เป็นต้น
2) ชนเผ่าชาวกูย นิยมแต่งกายแบบชาวไทยเขมร นิยมผ้าไหมกระเนียวลายริ้วเป็นทางยาว สตรีนิยมใส่ซิ่นที่มีหัวและตีนซิ่น และนิยมผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือเป็นสีดำ
3) ชนเผ่าชาวไทยโคราช นิยมผ้าไหมลายหางกระรอก
4) ชนเผ่าไทยลาว นิยมผ้าย้อมคราม และไหมลายมัดหมี่ลวดลายต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ ว่าเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ “ผ้าซิ่นตีนแดง" ซึ่งผลิตมาที่อำเภอพุทไธสงและนาโพธิ์
ที่ต่อไปที่จะพาไปชมคือ ศูนย์หัตถกรรมผ้าไหมนาโพธิ์ค่ะ ที่อำเภอนาโพธิ์จะได้รับการสนับสนุนจากโครงการศิลปาชีพพิเศษ ด้านการออกแบบลวดลาย และการจัดจำหน่ายผ้าไหมของอำเภอพุทไธสงและอำเภอนาโพธิ์ มักได้รับรางวัลจากการประกวดในที่ต่าง ๆ เป็นประจำ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอ ได้แก่ผ้าไหมมัดหมี่ ปี 2524 โดยได้รวมกลุ่มฯ และได้รับเป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าไหมระดับภาคตั้งแต่ ปี 2534 จนถึงปี 2544 รวม 47 รางวัล ปี 2542 ส่วนราชการให้การสนับสนุนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงสร้างศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้แก่เยาวชนและกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่และต่างพื้นที่ด้วย
บ้านหนองโก หมู่ที่ 6 ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสตรีในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเรียนทอผ้าไหม ในสมัยก่อนการทอผ้าไหมเป็นการทอสำหรับใช้เองในครัวเรือน นิยมสวมใส่เมื่อมีงานที่สำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานประเพณีในหมู่บ้าน/ตำบลจัดขึ้น
ปัจจุบันที่อำเภอนาโพธิ์ไม่ได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว เนื่องจากเรื่องของระบบชลประทาน ชาวบ้านเล่าว่าการจะเลี้ยงไหมต้องใช้น้ำเยอะ พื้นที่ที่อยู่ติดคลองถึงจะดี ดังนั้น ที่นาโพธิ์จะพาเพื่อน ๆ ชมการทอผ้าไปจนถึงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่สวยงามนะคะ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2530 มีชาวบ้านหนองโกได้เดินทางไปรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และนำผ้าไหมไปถวายด้วย พระองค์ทรงโปรดผ้าไหมทรงรับไว้และชื่นชอบมาก และทรงพระราชทานเงินให้เป็นค่าผ้าไหม สร้างความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาหมู่บ้านหนองโกได้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นสุภาพสตรี คือ นางนิสา ประดา เป็นผู้ที่มีฝีมือและทอผ้าไหมเป็นประจำ ได้ประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้าน เพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้นชื่อ “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองโก" เริ่มแรกยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก จวบจนได้รับคำแนะนำปรึกษาจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาโพธิ์ มีการฝึกอบรมให้ความรู้การพัฒนาด้านการผลิต การบริหารจัดการกลุ่ม การส่งเสริมด้านการตลาด ทำให้กลุ่มมีการพัฒนาผ้าไหมมัดหมี่ที่มีสีสันและลวดลายสวยงาม โดยที่ยังความเป็นผ้าไหมมัดหมี่แบบดั้งเดิมไว้ และพัฒนาลวดลายใหม่ให้เข้ากับสมัยใหม่
ในภาพ คือ เส้นไหมที่ผ่านการฟอกสีแล้วค่ะ หลังจากที่สาวไหมจนหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือ ต้องนำไหมที่ได้นั้นมาฟอกให้นิ่มและเป็นสีขาว วิธีฟอกไหมชาวบ้านไม่ได้ใช้สารเคมี แต่จะใช้ของที่หาง่ายอยู่ใกล้ตัว เช่น กาบกล้วย ใบกล้วย ต้นกล้วย ผักโขมหนาม ต้นตัง ไก่น้อย งวงต้นตาล ก้านตาล ฝักหรือเปลือกเพกา ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งนำมาฝานให้บาง ผึ่งแดดให้แห้ง และเผาไฟจนเป็นเถ้า นำเถ้าที่ได้ไปแช่น้ำไว้ให้ตกตะกอน ใช้เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใส นำไหมที่จะฟอกลงแช่ โดยก่อนจะนำไหมลงแช่จะต้องทุบไหมให้อ่อนตัว เพื่อที่น้ำจะได้ซึมเข้าได้ง่าย แช่จนไหมนิ่มและขาวจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็นำไปแช่ตามวิธีเดิมอีก จากนั้นการดึงไหมออกจากลุ่มไหมจะต้องทำโดยระมัดระวังไม่ให้พันกัน เส้นไหมที่ฟอกแล้วจะอ่อนตัวลง เส้นนิ่ม
เส้นไหมคุณภาพดีที่ยังไม่ได้ผ่านการฟอกสี
การย้อมสีไหม : สีไหมที่นิยมใช้ย้อมมี 2 ชนิด คือ สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติและสีย้อมวิทยาศาสตร์ หรือสีสังเคราะห์
สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติ ได้จากต้นไม้ ใช้ได้ทั้งใบ เปลือก ราก แก่น และผล ชาวอีสานรู้จักการย้อมสีไหมให้ได้สีตามต้องการจากสีธรรมชาติมานานแล้ว มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควรเริ่มจากไปหาไม้ที่จะให้สีที่ต้องการ ซึ่งจะอยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ บางสีต้องการใช้ต้นไม้หลายชนิด ทำให้ยุ่งยาก เมื่อได้มาแล้วต้องมาสับมาซอย หั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปต้มกรองเอาน้ำให้ได้มากตามต้องการ แล้วจึงนำไปย้อมแต่ละครั้งสีจะแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนเดิมทีเดียว ทำให้เกิดรอยด่างบนผืนผ้าได้ ปัจจุบันจึงนิยมใช้สีเคมีเป็นส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด เพราะย้อมง่าย ขั้นตอนที่ทำไม่ยุ่งยากซับซ้อนสีที่ได้สม่ำเสมอ จะย้อมกี่ครั้ง ๆ ก็ได้สีเหมือนเดิมและสีติดทนนานมากกว่าสีจากธรรมชาติ
การทอผ้าไหม : วิธีการในการทอผ้าไหม คือ การนำเส้นไหมมาผ่านกรรมวิธีที่จะให้เกิดเป็นผืนผ้า โดยมีเครื่องมือคือกี่ ส่วนการทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้านั้นเป็นเทคนิควิธีที่จะทำให้มีความสวยงาม ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ก็จะยาก-ง่าย ตามแต่ลวดลายที่ต้องการ
"ผ้าไหม" ได้ชื่อว่า "ราชินีแห่งเส้นใยผ้า" เป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย ผ้าไหมแต่ผืนสะท้อนความเป็นไทยวัฒนธรรมที่ยาวนานหลายร้อยปี ลวดลายเป็นของตัวเองไม่ซ้ำแบบใคร เส้นไหมแต่ละเส้นที่นำมาถักทอเหมือนมีชีวิต ต้องละเอียดอ่อนพิถีพิถัน จึงจะได้ผ้าที่มีความงดงามวิจิตร คุณค่าและเอกลักษณ์ของผ้าไหมอยู่ที่เป็นงานที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย
ผ้าไหมเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทุกประเภท โดยเฉพาะผ้าไหมนาโพธิ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างดีว่าเป็นถิ่นที่ชาวบ้านมีฝีมือการทอ ผ้าไหมที่สวยงาม และยังคงสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่น ดังจะเห็นได้จากการประกวดผ้าไหมในที่แห่งไหน ผ้าไหมจากนาโพธิ์ ได้รับรางวัลในระดับต่าง ๆ เช่น รางวัลชนะเลิศการประกวดผ้าไหมระดับโลก รางวัลชนะเลิศ OTOP เป็นต้น
ในปัจจุบันผ้าไหมยังถูกแปรรูปเป็นสินค้าอีกหลาย อย่างช่วยเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ชาวบ้านค่ะ
หมอนอิงและตุ๊กตาแบบต่าง ๆ ที่ทำจากผ้าไหมสวยงามจนอดที่จะซื้อกลับมาเป็นของฝากไม่ได้
โดยเฉพาะผ้าคลุมไหล่ผืนงามที่ตั้งใจซื้อมาฝากคุณแม่ ยอมรับนะคะว่ามีแวบแรกที่คิดว่าผ้าไหมราคาแพงแต่ถามตัวเองว่าทำไมผ้าพันคอแบรนด์ดัง ๆ ซื้อได้แล้วทำไมผ้าไหมสวย ๆ ของไทยเราที่กว่าจะได้มาแต่ละผืนช่างยากลำบาก ทำไมเราถึงชอบคิดว่าแพง
แวะทานมื้อเที่ยงกันหน่อยนะคะ รีวิวบุรีรัมย์อาหารไม่ค่อยจัดเต็มเท่าไหร่ แต่ก๋วยเตี๋ยวหมูร้านนี้อยากแนะนำค่ะ "ก๋วยเตี๋ยวหมูกิจงามเลิศ" ให้เยอะมาก
ก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสจัดจ้านแบบไม่ต้องปรุงเพิ่มเลยจะต้มยำน้ำหรือแห้งก็อร่อย
การเดินทางมาที่ร้านนี้ จากตัวเมืองบุรีรัมย์ใช้ถนนปลัดเมือง ตรงไปจนถึงศูนย์โตโยต้าชัวร์ จะพบร้านก๋วยเตี๋ยวหมูกิจงามเลิศอยู่ฝั่งตรงข้าม ใครอยากมาชิมต้องรีบหน่อยนะคะ ไม่เกิน 4 โมงเย็นก็ปิดแล้วค่ะ
อีกหนึ่งสถานที่ที่อยากพาไป คือ วนอุนทยานภูเขาไฟกระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ค่ะ อยู่ใกล้ที่พักเรามาก ๆ ไม่แวะไม่ได้แล้ว วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และศึกษาประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยาและชีววิทยา เพราะเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ ชัดเจน มีโบราณสถานกู่เขากระโดง เป็นที่ประดิษฐานรองพระพุทธบาทจำลอง และมี "พระสุภัทรบพิตร" พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์อยู่บนยอดเขา และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าเต็งรัง เนื้อที่ประมาณ 6 พันไร่ รวมทั้งพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่หาชมได้ยาก เช่น ผลของต้นโยนีปีศาจ ที่มักพบในบริเวณเขตภูเขาไฟ การขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ
โดยวนอุทยานเขากระโดง ชื่อเดิมชาวบ้านเรียกเขากระโดงว่า "พนมกระดอง" เป็นภาษาเขมร แปลว่า "ภูเขากระดอง (เต่า)" เพราะมีรูปลักษณ์คล้ายกระดองเต่า ต่อมา จึงเรียกเพี้ยนเป็น “กระโดง" ส่วน สะพานพิสูจน์ศรัทธาสาธุชน (บันไดนาคราช) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 เพื่อเป็นทางเดินขึ้นไปสักการบูชาพระสุภัทรบพิตร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขากระโดง จำนวน 297 ขั้น ชมการละเล่นพื้นบ้านในงานประเพณีขึ้นเขากระโดง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และร่วมทำบุญงานประกวดกวนข้าวทิพย์–ตักบาตรเทโวโรหณะ ในช่วงก่อนวันออกพรรษาและวันออกพรรษาของทุกปีค่ะ
พระสุภัทรบพิตร เป็นพระพุทธรูปคู่เมือง ภายในเศียรบรรจุพระธาตุ ประดิษฐานอยู่บนเขากระโดง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานยาว 14 เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์ (ในขณะนั้น) ร่วมกับพ่อค้าประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในความคิดและโครงการต่าง ๆ ของ หลวงพ่อบุญมา ปัญญาปโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดเขากระโดง ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นบริเวณยอดเขากระโดง เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จากจุดที่ตั้งขององค์พระสามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์ได้
การเดินทาง : รถยนต์สามารถเดินทางไปวนอุทยานเขากระโดงได้ 3 เส้นทาง ดังนี้
1. เส้นทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานฯ
2. เส้นทางจากจังหวัดนครราชสีมา ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-สุรินทร์) ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานฯ
3. เส้นทางจากจังหวัดสุรินทร์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ระยะทาง 50 กิโลเมตร พบสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายไปอำเภอประโคนชัยประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า
ไม่ไกลจากวนอุทยานเขากระโดงเป็นที่ตั้งของ วัดป่าเขาน้อย อยู่ในตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ติดเขตวนอุทยานภูเขาไฟกระโดง เป็นป่าธรรมชาติร่มรื่น เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่พุทธศาสนิกชนที่สงบเงียบ ภายในวัดป่าเขาน้อยมี “พระบรมธาตุเจดีย์ศรีสุวจคุณานุสรณ์" สร้างขึ้นจากแรงเคารพศรัทธาของศิษยานุศิษย์ของ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นเครื่องระลึกถึงพระคุณแห่ง หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ พระสายธรรมยุติและเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น
แวะมาเดินเล่น "สถานีรถไฟบุรีรัมย์" กันหน่อยค่ะ เก็บภาพมาฝาก
รถไฟมาแล้ว
หน้าสถานีจะมีลูกชิ้นแบบยืนทานกันหน้าร้านเลย ไม้ละ 3 บาทเท่านั้น ชอบเจ้าไหนก็ชิมกันไปแต่ละเจ้าจะคล้าย ๆ กัน
แต่มีร้านป้านกที่มีลูกชิ้นไม่กี่แบบแต่ลูกค้าก็ยังเหนียวแน่นชิมแล้วอร่อยจริงค่ะ ต้องยืนจิ้มกันหน้าร้านแบบนี้ด้วยนะ บรรยากาศมันได้
แนะนำของหวานหลังอาหารเย็น "เต้าส่วนเจ้ตุ่ม" ในตลาดผลไม้สี่แยกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์หรือไนท์บาร์ซาร์เก่า เต้าส่วนเจ้านี้ขายมานานกว่าสิบปี ด้วยคุณภาพและรสชาติที่อร่อยหวานกำลังดี เมล็ดถั่วคัดล้างสะอาด นุ่ม กะทิหอมมัน กินกับปาท่องโก๋ร้อน ๆ กรอบ ๆ ของร้านใกล้กันฟินเลยค่ะ
อร่อยจริง ๆ นะ คุณลุง คุณป้าเจ้าของร้านใจดี เต้าส่วนถ้วยละ 20 บาทค่ะ ร้านหยุดวันอาทิตย์และวันพระนะคะ
ไปถึงถิ่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทั้งที ก็ต้องเก็บภาพบรรยากาศสนามมาฝากกันหน่อยนะคะ
ภายในศูนย์จำหน่ายสินค้าของทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด
ที่นั่งนักเตะ
สนามแห่งนี้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างของฟิลิปส์อย่างมาตรฐานจะมีความสว่างของไฟ อยู่ที่ 1,700 ลักซ์ โดยในส่วนอัฒจันทร์ฝั่งกองเชียร์นั้นมีเก้าอี้ที่นั่งเชียร์เป็นสีน้ำเงินเกือบหมด แต่จะใช้เก้าอี้สีขาวตรงที่มีคำว่า ธันเดอร์ คาสเซิล (Thunder Castle)
พื้นของสนามฟุตบอลซึ่งได้แบบมาจากพื้นสนามแสตมฟอร์ด บริดจ์ ของสโมสรเชลซี จากประเทศอังกฤษ โดยใช้หญ้าแพทพารัมย์ จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของความนุ่มเป็นพิเศษ ทนทานต่อการใช้งานที่รุนแรงและสามารถรับน้ำหนักได้มาก ลดการยุบหรือทรุดตัวของผิวสนาม ที่สำคัญยังช่วยให้นักกีฬาไม่บาดเจ็บเมื่อล้มลงในพื้นสนาม
ถ้าใครเคยมาเยือนสนามนี้ในวันที่มีแข่งจะรับรู้ได้ถึงพลังกองเชียร์ของทีมบุรีรัมย์จริง ๆ ค่ะ เป็นกองเชียร์ที่เข้มแข็งและส่งพลังไปถึงนักเตะอย่างแท้จริง ทุกคนร่วมกันเปล่งเสียงเชียร์อย่างหนักแน่น
รับรู้ได้เลยค่ะว่าคนบุรีรัมย์มีความรักและผูกพันกับฟุตบอลอย่างแท้จริง คำว่า "Breath of Buriram" ไม่ได้กล่าวเกินจริงเลยสักนิด เสียงเชียร์ดังกระหึ่มตลอดการแข่งขัน เก้าอี้ถูกจับจองเต็มพื้นที่
ปิดท้ายด้วยภาพเกมฟุตบอลมันส์ ๆ ระหว่าง Buriram United และ TOT นะคะ เป็นแมตช์ที่มันมาก ขอบคุณทุกคนที่แวะมาเที่ยวบุรีรัมย์ด้วยกันค่ะ
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น